หลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

หลักสูตรวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ 

(Earth System Science: ESS)

หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันโลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลายปัญหาอันเนื่องมาจากการที่โลกเสียสมดุล ซึ่งมีสาเหตุทั้งจากการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติและที่สำคัญ คือ ผลจากกิจกรรมของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ มลพิษทางสิ่งแวดล้อม พิบัติภัยทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม รวมทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (Climate Change) อันนำไปสู่ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น เกิดพายุรุนแรง น้ำท่วม ภาวะแห้งแล้ง การแพร่ระบาดของพาหะนำโรคและโรคบางชนิด เป็นต้น ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้นอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบสิ่งแวดล้อม ของโลกแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพอนามัย ชีวิต และทรัพย์สินของมนุษย์ ตลอดจนเศรษฐกิจของสังคมโลกอย่างมากด้วย

องค์กรทางด้านวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่สำคัญระดับโลก ได้แก่ NASA (The National Aeronautics and Space Administration), NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration), NSF (National Science Foundation) และ Department of Education and State ของสหรัฐอเมริกา ต่างเห็นว่า การดำรงชีวิตของเราในโลกปัจจุบันและในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการเรียนรู้และความเข้าใจความเป็นไปของโลก ทุกคนบนโลกควรจะได้เรียนรู้ ตระหนัก และเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของโลกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราสามารถป้องกัน แก้ไข และผ่านพ้นปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน

ในฐานะที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นหน่วยงานที่มุ่งส่งเสริมการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้แก่ครูและนักเรียน ได้เล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้สิ่งแวดล้อม จึงได้พัฒนาสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 2 (ประถมศึกษาปีที่ 4-6) และ ช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 1-3) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพื่อให้สถานศึกษาใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมธรรมชาติในท้องถิ่น มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมโลกผ่านการศึกษาวิจัยในลักษณะของวิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ (Earth System Science: ESS) โดยการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่างนักเรียน ครู นักวิทยาศาสตร์ และชุมชนทั่วโลก เพื่อที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบต่างๆ ของโลก ตระหนักถึงสภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อม และร่วมกันรับผิดชอบในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของโลกที่จะป้องกัน ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป

การพัฒนาสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบชุดนี้ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัย นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์โครงการ GLOBE ของ สสวท. โครงการ GLOBE สหรัฐอเมริกา ครู และนักเรียนจากโรงเรียนที่ทดลองใช้ สสวท. ใคร่ขอขอบคุณทุกท่านมา ณ โอกาสนี้ สสวท. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบชุดนี้ จะเป็นประโยชน์แก่สถานศึกษาและผู้เกี่ยวข้องในการที่ช่วยให้การเรียนการสอนเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น หากมีข้อเสนอแนะประการใดที่จะทำให้คู่มือครูเล่มนี้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น โปรดแจ้ง สสวท. ทราบด้วย จักขอบคุณยิ่ง

วัตถุประสงค์ในการพัฒนาสื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

1. เพื่อให้สถานศึกษาสามารถใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สภาพแวดล้อมธรรมชาติในท้องถิ่นตามความเหมาะสม โดยอาจจัดเป็นรายวิชาเพิ่มเติม นำกิจกรรมการเรียนรู้ไปสอดแทรกในรายวิชาพื้นฐาน จัดเป็นกิจกรรมค่าย หรือกิจกรรมในชมรมสิ่งแวดล้อม

2. เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เรียนรู้และรู้จักสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตน เข้าใจความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ บนโลกว่ามีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทั้งสิ้น ถ้าองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งเปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบอื่นๆ ตามไปด้วย

3. เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาองค์ความรู้ กระบวนการคิดวิเคราะห์และการคิดเป็นระบบอย่างเป็นองค์รวม การแก้ปัญหาและการตัดสินใจ ทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ความสามารถในการสื่อสาร การทำงานร่วมกันเป็นทีม การนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน ตลอดจนมีจิตวิทยาศาสตร์ เจตคติ คุณธรรม ค่านิยม และความตระหนักที่ถูกต้องเหมาะสม

 

คำอธิบายรายวิชา สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (รายวิชาเพิ่มเติม)

ESS กับมาตรฐานการเรียนรู้กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์

คุณค่าการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

การจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

ทำไมต้องเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ

วิทยาศาสตร์โลกทั้งระบบ (Earth System Science) คืออะไร

 

สื่อการเรียนการสอน ESS

เกี่ยวกับ-GLOBE